Rating

Astronomy : ดาราศาสตร์

🌟 Astronomy 🌙
🔯 ดาราศาสตร์ 🔯
ดาราศาสตร์ คือ  วิชาวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาวัตถุท้องฟ้าอาทิ ดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ ดาวหาง และดาราจักร รวมทั้งปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากนอกชั้นบรรยากาศของโลก โดยศึกษาเกี่ยวกับวิวัฒนาการ ลักษณะทางกายภาพ ทางเคมี ทางอุตุนิยมวิทยา และการเคลื่อนที่ของวัตถุท้องฟ้า ตลอดจนถึงการกำเนิดและวิวัฒนาการของเอกภพ


      ดาราศาสตร์เป็นหนึ่งในสาขาของวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุด นักดาราศาสตร์ในวัฒนธรรมโบราณสังเกตการณ์ดวงดาวบนท้องฟ้าในเวลากลางคืน และวัตถุทางดาราศาสตร์หลายอย่างก็ได้ถูกค้นพบเรื่อยมาตามยุคสมัย อย่างไรก็ตาม กล้องโทรทรรศน์เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่จำเป็นก่อนที่จะมีการพัฒนามาเป็นวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ตั้งแต่อดีตกาล ดาราศาสตร์ประกอบไปด้วยสาขาที่หลากหลายเช่น การวัดตำแหน่งดาว การเดินเรือดาราศาสตร์ ดาราศาสตร์เชิงสังเกตการณ์ การสร้างปฏิทิน และรวมทั้งโหราศาสตร์ แต่ดาราศาสตร์ทุกวันนี้ถูกจัดว่ามีความหมายเหมือนกับฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ดาราศาสตร์ได้แบ่งออกเป็นสองสาขาได้แก่ ดาราศาสตร์เชิงสังเกตการณ์ และดาราศาสตร์เชิงทฤษฎี ดาราศาสตร์เชิงสังเกตการณ์จะให้ความสำคัญไปที่การเก็บและการวิเคราะห์ข้อมูล โดยการใช้ความรู้ทางกายภาพเบื้องต้นเป็นหลัก ส่วนดาราศาสตร์เชิงทฤษฎีให้ความสำคัญไปที่การพัฒนาคอมพิวเตอร์หรือแบบจำลองเชิงวิเคราะห์ เพื่ออธิบายวัตถุท้องฟ้าและปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทั้งสองสาขานี้เป็นองค์ประกอบซึ่งกันและกัน กล่าวคือ ดาราศาสตร์เชิงทฤษฎีใช้อธิบายผลจากการสังเกตการณ์ และดาราศาสตร์เชิงสังเกตการณ์ใช้ในการรับรองผลจากทางทฤษฎี


        การค้นพบสิ่งต่าง ๆ ในเรื่องของดาราศาสตร์ที่เผยแพร่โดยนักดาราศาสตร์สมัครเล่นนั้นมีความสำคัญมาก และดาราศาสตร์ก็เป็นหนึ่งในวิทยาศาสตร์จำนวนน้อยสาขาที่นักดาราศาสตร์สมัครเล่นยังคงมีบทบาท โดยเฉพาะการค้นพบหรือการสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว


       ไม่ควรสับสนระหว่างดาราศาสตร์โบราณกับโหราศาสตร์ ซึ่งเป็นความเชื่อที่นำเอาเหตุการณ์และพฤติกรรมของมนุษย์ไปเกี่ยวโยงกับตำแหน่งของวัตถุท้องฟ้า แม้ว่าทั้งดาราศาสตร์และโหราศาสตร์เกิดมาจากจุดร่วมเดียวกัน และมีส่วนหนึ่งของวิธีการศึกษาที่เหมือนกัน เช่นการบันทึกตำแหน่งดาว (ephemeris) แต่ทั้งสองอย่างก็แตกต่างกัน 



       ในปี ค.ศ. 2009 นี้เป็นการครบรอบ 400 ปีของการพิสูจน์แนวคิดเรื่องดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ของ นิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส อันเป็นการพลิกคติและโค่นความเชื่อเก่าแก่เรื่องโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาลของอริสโตเติลที่มีมาเนิ่นนาน โดยการใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ของกาลิเลโอซึ่งช่วยยืนยันแนวคิดของโคเปอร์นิคัส องค์การสหประชาชาติจึงได้ประกาศให้ปีนี้เป็นปีดาราศาสตร์สากล มีเป้าหมายเพื่อให้สาธารณชนได้มีส่วนร่วมและทำความเข้าใจกับดาราศาสตร์มากยิ่งขึ้น



งานของนักดาราศาสตร์


"เรากำลังสังเกตการเดินหมากรุกของจักรวาลอยู่ และพยายามจะเข้าใจว่ากฎของมันคืออะไร เผื่อว่าสักวันหนึ่งเราอาจเข้าใจก็ได้ว่า เกมนี้มันสร้างขึ้นมาทำไม"

ไม่ผิดที่มนุษย์เราจะมีความเชื่อ เพราะบางแง่มุมของความเชื่อก็ช่วยให้มนุษย์มีหลักยึดภายใน ไม่ให้ชีวิตเลื่อนไหลไปตามแรงเหวี่ยงภายนอก แต่หากความเชื่อนั้นไม่มีที่มาที่ไป ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักเหตุและผล หรือกระทั่งสวนทางกับข้อเท็จจริงอันเป็นที่ยอมรับในสากล ความเชื่อประเภทนั้นย่อมพาให้ดิ่งลงเหว ยิ่งหากรวมกันเป็นคนหมู่มาก ยิ่งกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อ ‘สังคมอุดมความเชื่อ’ และอาจวิวัฒนาการถอยหลังไปสู่ยุคสมัยแห่งความมืดบอด
สิ่งเดียวที่จะช่วยขับไล่ความไม่รู้คือ ‘ความรู้’ แต่ความรู้ในที่นี้ไม่ได้ผุดบังเกิดขึ้นเองจากการระลึกชาติ หากเกิดจากการสังเกต ตั้งข้อสงสัย และค้นหาคำตอบ
ว่ากันว่าดาราศาสตร์คือองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ชุดแรกๆ ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับอารยธรรมโลก นับตั้งแต่ที่มนุษย์เริ่มแหงนหน้ามองดาวบนท้องฟ้า นำมาซึ่งนวัตกรรมยิ่งใหญ่มากมาย
น่าเสียดายที่นักดาราศาสตร์ผู้ทำหน้าที่ไขความลับแห่งจักรวาล ในประเทศไทยมีอยู่เพียงหยิบมือเดียว มติพล ตั้งมติธรรม เป็นหนึ่งในนั้น
มติพลเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ ประจำศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ (public outreach) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นทั้งคนเฝ้าดูดาวและถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก จนเว็บไซต์ Astronomy Picture of the Day (APOD) ขององค์การ NASA ต้องขอหยิบยืมผลงานไปเผยแพร่
แม้โดยสายอาชีพ เขาคือนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ที่มีหน้าที่หลักคือการตั้งสมมุติฐานและแก้สมการให้กับทุกเรื่องที่สงสัย แต่งานประจำของเขาก็ผูกโยงกับงานด้านการศึกษาอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน ทั้งการจัดค่ายเยาวชน ชุมนุมดาราศาสตร์ จัดอบรมครู เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นความสนใจทางวิทยาศาสตร์ให้แก่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
ใครบางคนอาจพูดว่า “อย่างมงายในวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง” แต่มติพลเป็นคนหัวดื้อ เขายืนยันว่าทุกอย่างย่อมสามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ผิดจากนี้ไม่ใช่ของจริง

จริงๆ แล้วจุดมุ่งหมายของวิชาฟิสิกส์คืออะไร

ถ้าให้ตอบง่ายๆ ฟิสิกส์เป็นเรื่องของแรงที่กระทำระหว่างสสาร ในจักรวาลนี้มีแรงอยู่สี่แรง คือแรงแม่เหล็กไฟฟ้า แรงโน้มถ่วง แรงนิวเคลียร์อ่อน แรงนิวเคลียร์เข้ม สิ่งที่เรารู้จักกันดีก็คือ แรงแม่เหล็กไฟฟ้าและแรงโน้มถ่วง บางทีเราอาจจะคิดว่าแรงโน้มถ่วงเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเรามากที่สุด แต่จริงๆ แล้วแรงที่น่าจะมีผลกระทบต่อชีวิตเรามากที่สุดก็คือแรงแม่เหล็กไฟฟ้า ร่างกายเรายืนอยู่บนโลกได้เพราะแรงแม่เหล็กไฟฟ้า สาเหตุที่ตัวเราไม่ทะลุลงไปในโลกก็เพราะแรงแม่เหล็กไฟฟ้าของเก้าอี้มันผลักดันกับอิเล็กตรอนที่ก้นของเรา นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ผมชอบฟิสิกส์ เพราะมันอธิบายอะไรต่างๆ ได้

จะโทษระบบการศึกษาได้ไหมว่า ก่อนที่จะให้นักเรียนเรียนอะไรควรอธิบายสักหน่อยว่าเรียนไปเพื่อให้เข้าใจอะไร

ถูกต้องครับ อันนี้ค่อนข้างสำคัญ ระบบการศึกษาเป็นเรื่องที่พูดแล้วยาว (หัวเราะ) คือปัญหาของการศึกษาไทยค่อนข้างชัดเจนในหลายๆ แง่ แม้กระทั่งหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการปฏิรูปการศึกษาไทยก็ต้องให้เครดิตว่าเขาเข้าใจปัญหาพอสมควร เพียงแต่วิธีแก้อาจจะยังไม่ถูกต้อง วิธีแก้นี่เป็นสิ่งที่ยากที่สุด บางทีพอเจอปัญหาแล้วก็ไม่รู้จะแก้ยังไง
จากประสบการณ์ของผมเองที่เคยเกลียดฟิสิกส์ ทั้งที่จริงแล้วถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องก็สามารถทำได้ ถามว่าผมโทษระบบการศึกษาไหม ผมโทษพอสมควร ส่วนตัวผมเห็นว่าระบบการศึกษามีปัญหาอยู่มาก ด้วยความที่ผมโตมาแบบนักเรียนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ และได้เปรียบเทียบกับการเรียนที่สหรัฐอเมริกา ผมสามารถเห็นความแตกต่างนี้พอสมควร
อย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญและสมควรแก้คือ เด็กไทยคิดไม่เป็น จริงๆ มันเป็นปัญหาที่ใกล้เคียงกับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกซึ่งอยู่ภายใต้ลัทธิขงจื๊อ ขงจื๊อสอนว่าต้องเคารพผู้ใหญ่ ต้องเรียนแบบนกแก้วนกขุนทอง อย่าเพิ่งสงสัย ให้ท่องจำไปก่อน ซึ่งมันมีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อเสียที่เห็นชัดคือเด็กคิดไม่เป็น เราภูมิใจกันมากว่า เด็กไทยเรียนเยอะ เรียนเก่ง ไปแข่งขันได้รางวัล แต่ตลอด 12 ปีที่อยู่ในโรงเรียน เด็กไทยได้ฝึกเพียงแค่ทักษะในการตอบคำถาม ไม่ใช่การตั้งคำถาม เพราะนี่คือสิ่งที่เราใช้วัดผล เราวัดผลด้วยเกรด สิ่งเดียวที่ข้อสอบเอนทรานซ์วัดได้ก็คือ ความสามารถในการทำข้อสอบเอนทรานซ์
ปัญหาอยู่ที่เราวัดผลกันที่ทักษะการตอบคำถาม แต่ขณะเดียวกันเด็กไม่ได้ฝึกทักษะในการตั้งคำถามเลย เราอาจจะรู้สึกว่าเด็กเก่ง เกรดดี แต่ถามจริงๆ ว่าเมื่อโตขึ้นไปทำงาน สมมุติเจ้านายถามในที่ประชุมว่าใครมีไอเดียอะไรบ้าง ทักษะแบบนั้นจะมีประโยชน์อะไรไหม ต่อให้เด็กเกรดดีแค่ไหน แต่ถ้าถึงเวลาแล้วคิดไม่เป็นเลย ผมนึกภาพไม่ออกเลยว่าถ้าบริษัทเอกชนไทยรับเด็กเหล่านี้เข้าไปแล้วจะสู้บริษัทต่างชาติได้ยังไง มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก ถ้าใครเคยเลี้ยงเด็กมาก่อนจะรู้เลยว่า เด็กเล็กๆ ทุกคนมีแต่คำถามเต็มไปหมด แต่ทันทีที่เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษา เด็กหยุดถามทันทีเลย ผมจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์มาหลายครั้งเห็นชัดเจนเลยว่า ถ้าเป็นเด็กเล็กๆ จะถามตลอด นี่อะไร นั่นอะไร แต่พอเป็นเด็กมัธยมมา พี่ครับๆ ช่วยเซ็นลายเซ็นให้หน่อย ครูสั่งมา หรือไม่ก็เอากระดาษมายืนจดๆ ฉะนั้นจากประสบการณ์ผมเห็นชัดเจนมากว่า สิ่งที่มันทำลายการตั้งคำถามของเด็กคือระบบการศึกษา
มีคำพูดหนึ่งของ มาร์ค ทเวน ที่ผมชอบมากและจำได้ทุกวันนี้ “Don’t let school interfere with your education.” คือ โรงเรียนกำลังขัดขวางการเรียนรู้ เราเสียเวลาไปเกือบ 12 ปีกับโรงเรียนสายสามัญ โดยไม่ได้ฝึกทักษะการตั้งคำถามเลย ปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์ ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ถ้าเรายังสอนกันแบบนกแก้วนกขุนทอง ใครสอนอะไรมาเราก็เชื่อ โดยไม่รู้จักตั้งคำถาม ใครบอกว่ามีพญานาคผุดขึ้นมาเราก็เชื่อ ซึ่งวิธีคิดแบบนี้มันโยงไปได้ทุกเรื่อง แม้กระทั่งเรื่องการเมืองก็ตาม เราแชร์ข่าวตามๆ กันโดยไม่ฉุกคิด แม้กระทั่งแชร์ข่าวลวงโลกทั้งหลาย เช่น ดาวอังคารใหญ่เท่าดวงจันทร์ ถ้าคิดสักนิดหนึ่งก็รู้แล้วว่ามันเป็นไปไม่ได้ แล้วถามว่าเคยเห็นไหม ก็ไม่เคย (หัวเราะ)
ถ้าเราบอกว่าเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า แล้วเด็กที่ไม่ตั้งคำถามในวันนี้ ลองคิดดูแล้วกันว่าจะเป็นผู้ใหญ่แบบไหน ผมว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ส่วนตัวผมเองอาจจะเรียกว่าเป็นคนประหลาดก็แล้วกัน ถึงแม้ผมจะโตมาในระบบนี้ แต่ผมถามไม่หยุดมาตั้งแต่เด็กแล้ว ทุกๆ เทอมผมจะโดนอาจารย์เกลียดขี้หน้าอย่างน้อยหนึ่งคน เพราะผมชอบถามคำถามที่อาจารย์ไม่ชอบให้ถาม แม้กระทั่งเพื่อนเองก็ไม่ชอบ เพื่อนผมเคยมาบอกว่าหยุดถามได้มั้ย มันรบกวนคนอื่น
ปัญหาการศึกษาอีกอย่างคือ คลาสเราใหญ่มาก อย่างโรงเรียนเอกชนดังๆ ห้องหนึ่ง 50 กว่าคน ถ้ามีคนหนึ่งถามก็เท่ากับการเรียนของคนอีก 49 คนต้องชะงักไป ในขณะที่คลาสต่างประเทศหรือโรงเรียนนานาชาติมีประมาณ 20 กว่าคน จะเห็นว่าแค่ขนาดคลาสก็มีผลต่อการตั้งคำถามมาก แม้กระทั่งผมเองเวลาเป็นวิทยากร ถ้ามีคนมากกว่า 30 คน พอถามไปก็ไม่ค่อยมีใครอยากตอบ เพราะรู้สึกมีแรงกดดันจากเพื่อนๆ ทำให้ไม่กล้ายกมือ ไม่กล้าถาม

จากความสนใจด้านวิทยาศาสตร์กลายเป็นจุดเปลี่ยนผ่านมาสู่การเป็นนักดาราศาสตร์ได้อย่างไร

ย้อนกลับไปสมัยที่เรียนคอร์แนล จริงๆ ก็สนใจฟิสิกส์อยู่ เพียงแต่คิดว่าตัวเองทำไม่ได้ และไม่เคยคิดว่าเป็นสิ่งที่เราจะทำได้ แต่พอรู้ว่าวิชาเคมีที่เคยชอบมันไม่ได้ตอบโจทย์ของเราอีกต่อไปแล้ว จากเดิมที่คิดว่ามันให้คำตอบทุกอย่าง สุดท้ายคำตอบที่ต้องการจริงๆ มันอยู่ในฟิสิกส์ พอจบ ป.ตรี แล้วจึงได้ไปต่อสาขาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องจักรวาลวิทยา

งานของนักดาราศาสตร์คืออะไร

จริงๆ ต้องเรียกว่าเป็นนักทฤษฎี ลองนึกภาพเหมือนในหนังว่านักทฤษฎีทำงานยังไง อันดับแรกก็คือ มีกระดานดำกับชอล์ก แล้วก็เขียนสมการยาวๆ เสร็จแล้วก็เอาสมการนั้นไปใส่ในคอมพิวเตอร์ แล้วก็นั่งหน้าจอเขียนโค้ด แก้บั๊ก เพื่อทดสอบสมการนั้นกับสิ่งเราเห็น นี่คือสิ่งที่นักทฤษฎีทำ ฉะนั้นโดยสายอาชีพแล้วผมไม่จำเป็นต้องใช้กล้องโทรทรรศน์เลย ไม่จำเป็นต้องดูดาวเลย

หมายความว่านักดาราศาสตร์อาชีพจริงๆ ไม่จำเป็นต้องดูดาวเป็น?

ไม่ต้องเลยครับ เล่าให้ฟังนิดหนึ่ง ตอนผมทำชุมนุมดาราศาสตร์ จะมีคนชอบถามว่าผมเป็นนักดาราศาสตร์เหรอ บางคนก็คิดว่าทำงานอยู่หอดูดาวก็ต้องเป็นนักดาราศาสตร์สิ แล้วผมก็จะตอบอย่างนี้ทุกครั้งเวลาที่มีคนถาม ว่าคุณรู้ไหม นักดาราศาสตร์อาชีพกับนักดาราศาสตร์สมัครเล่นต่างกันยังไง ต่างกันตรงที่สองคนนี้มีแค่คนเดียวเท่านั้นที่ใช้กล้องดูดาวกับดูกลุ่มดาวเป็น แต่คนคนนั้นคือนักดาราศาสตร์สมัครเล่น
นักดาราศาสตร์อาชีพส่วนมาก อย่างเพื่อนๆ ผมที่เรียนคณะเดียวกันก็ดูกลุ่มดาวไม่เป็น ไม่เคยใช้กล้องดูดาว อันนี้เป็นธรรมดาที่คนมักคิดว่านักดาราศาสตร์จะต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ แต่จริงๆ ไม่ใช่ บางคนก็คิดว่านักดาราศาสตร์ต้องชื่นชอบการดูดาวด้วย เพื่อนผมเรียนทางด้านศูนย์กลางทางช้างเผือก ถามว่าแล้วศูนย์กลางทางช้างเผือกอยู่ตรงไหนบนท้องฟ้า ตอบไม่ได้ ชี้ไม่ถูก เพราะงานของเขาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ เอาข้อมูลมานั่งวิเคราะห์ นี่แหละคือดาราศาสตร์
ถ้าเปรียบเทียบคำว่าอาชีพกับสมัครเล่น ลองนึกง่ายๆ เหมือนนักมวยปล้ำ คนที่เข้าไปแข่งขันในโอลิมปิกเขาเรียกนักมวยปล้ำสมัครเล่น แต่คนที่ทำท่าชกแล้วกระทืบเท้าดังๆ เป็นซาวด์เอฟเฟ็คท์ นั่นล่ะคือนักมวยปล้ำอาชีพ
ทีนี้คำว่าสมัครเล่น หรือ amateur มันแปลว่าทำด้วยใจรัก อาจจะเพื่อค้นหาความสวยงามที่ตัวเองต้องการ ดูแล้วมันฟิน อยากจะส่อง อยากจะพัฒนาตัวเอง อยากจะเห็นอะไรแปลกๆ ในขณะที่นักดาราศาสตร์มืออาชีพคือนักวิทยาศาสตร์ คือคนที่ต้องการหาคำตอบอะไรบางอย่าง อยากจะเข้าใจว่าดวงดาวมันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ถามว่าจำเป็นไหมที่จะต้องรู้ว่าแต่ละกลุ่มดาวหน้าตาเป็นยังไง…ไม่จำเป็น กลุ่มดาวที่เราท่องๆ กันอยู่ เด็กที่แข่งดาราศาสตร์โอลิมปิกก็ท่องกัน เอาเข้าจริงแล้วไม่ต้องใช้ ท่องไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ถ้าอยากรู้ชื่อดาว คุณไปเปิดหาในอินเทอร์เน็ตก็ได้ ฉะนั้น ทักษะที่เราคิดว่านักวิทยาศาสตร์ต้องมี บางทีมันก็ไม่จำเป็นสำหรับการทำงานอาชีพ
ประเทศไทยทุกวันนี้อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมากทางด้านดาราศาสตร์ เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีหลักสูตรบังคับให้เรียนวิชาดาราศาสตร์ นักเรียนมัธยมทุกคนต้องเรียน แต่ทราบไหมครับว่า ทั่วโลกมีกี่ประเทศที่บังคับให้เด็กเรียนดาราศาสตร์ คำตอบคือสองประเทศ มีไทยกับอุรุกวัยเท่านั้นเอง เป็นหลักสูตรใหม่ที่เพิ่งมีได้ไม่นาน วิชาโลกและดาราศาสตร์ ซึ่งโดยส่วนตัวในฐานะนักดาราศาสตร์ ผมไม่เห็นด้วยที่จะบังคับให้ทุกคนต้องเรียน แต่เห็นว่าควรเป็นวิชาเลือก มันมีข้อดีไหม มี แต่ผมคิดว่าข้อเสียมีมากกว่า แน่นอนว่าถ้าเราไปบังคับให้เด็กเรียนอะไร เด็กมันก็ไม่ชอบทั้งนั้น และที่แย่กว่านั้นก็คือ จริงๆ แล้วเรายังไม่พร้อม เราไม่มีบุคลากรที่มีคุณวุฒิด้านดาราศาสตร์เลย นักดาราศาสตร์ในประเทศไทยถ้าจะนับดูแล้วมีไม่เยอะ แล้วถ้าเราสอนกันผิดๆ เช่นเดียวกับที่ผมได้รับการศึกษาทางฟิสิกส์มาผิดๆ คนที่มีความสนใจอยากเป็นนักดาราศาสตร์อาจจะเกลียดไปเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงพอสมควร

ตอนนี้นักดาราศาสตร์ในประเทศไทยมีอยู่กี่มากน้อย

น้อยมาก ไม่น่าจะเกิน 20 คน อยู่ที่ว่าจะนับยังไง ตอนนี้มีนักเรียนไทยได้รับทุนไปเรียนดาราศาสตร์ต่างประเทศมากพอสมควร ซึ่งก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็มีหลักสูตรดาราศาสตร์ ป.โท แล้ว เพิ่งเปิดเป็นปีที่ 2 ที่น่าเป็นห่วงก็เพราะไม่แน่ใจว่าประเทศไทยเรามีสายอาชีพที่รองรับมากแค่ไหน ดาราศาสตร์แตกต่างกับวิทยาศาสตร์สาขาอื่นตรงที่มันไม่มี industry applications เลย จบมาจะทำอะไรได้นอกจากสอนหนังสือ สอนมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้เพราะส่วนใหญ่ต้องจบ ป.เอก ขึ้นไป แล้วถ้าจะไปสอนหนังสือก็ไม่เห็นจำเป็นต้องจบดาราศาสตร์ก็ได้
ดาราศาสตร์ในเมืองไทยกำลังโตเร็วมากในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เดี๋ยวนี้มีการแข่งขันโอลิมปิกดาราศาสตร์ คนสนใจกันเยอะมาก ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อดีมานด์มากกว่าซัพพลาย เรากำลังผลิตนักดาราศาสตร์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจบออกมาแล้วจะมีที่ทำงานหรือเปล่า แล้วถ้าคนเหล่านี้ได้รับการศึกษาที่ไม่ถูกต้องจะส่งผลกับวงการดาราศาสตร์ประเทศไทยต่อไปอีกหลายสิบปีแน่นอน

ท้ายที่สุดแล้วดาราศาสตร์ช่วยตอบโจทย์อะไรในชีวิตบ้าง


นักดาราศาสตร์ก็คือนักวิทยาศาสตร์ ถามว่าเรียนไปทำไม ตอบได้หลายอย่าง คำตอบง่ายๆ ก็คือ โลกเราทุกวันนี้มันก้าวหน้าไปด้วยนวัตกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ นวัตกรรมพวกนี้ก็มาจากวิทยาศาสตร์ แน่นอนว่าถ้าเราไม่คิดค้นอะไรใหม่ๆ มันก็ย่ำอยู่ที่เดิม ไม่ก้าวหน้าไปไหน ฉะนั้นในทุกอารยธรรม วิทยาศาสตร์มีส่วนสำคัญทั้งนั้น
มีคนบอกว่าดาราศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์สาขาแรกๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก ซึ่งก็มีส่วนจริงพอสมควร เพราะอารยธรรมบนโลกเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการทำเกษตรกรรม สิ่งที่สำคัญสำหรับเกษตรกรรมก็คือปฏิทิน ถ้าเรารู้ล่วงหน้าว่าเมื่อไหร่ฝนกำลังจะมา เราก็จะสามารถวางแผนในการหว่านเมล็ดพันธุ์และการเก็บเกี่ยวได้ งานกสิกรรมของมนุษย์จึงพัฒนาขึ้น เมื่อปลูกผลผลิตได้มากขึ้นก็ทำให้มีเวลาว่างพอที่จะคิดค้นอะไรใหม่ๆ เพื่อผลักดันสังคมต่อไป ปฏิทินจึงเกิดขึ้นได้เพราะดาราศาสตร์ ถ้าเราไม่เริ่มแหงนหน้ามองท้องฟ้าแล้วพยายามสังเกตดวงอาทิตย์ สังเกตกลุ่มดาว เราจะไม่มีวันทราบเลยว่าในหนึ่งปีโลกใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์กี่วัน
ถามว่าเรียนไปแล้วได้อะไร คำตอบหนึ่งที่ผมชอบบอกก็คือ มันเหมือนกับถามนักสำรวจอย่าง โคลัมบัส ว่า ถ้าเดินทางไปแล้วจะเจออะไร จะไปรู้ได้ยังไง ก็ในเมื่อยังไม่เคยมีใครไปถึงที่นั่น เขาจึงต้องออกเดินทางไปก่อน ถึงจะรู้ว่าจะเจออะไร ฉะนั้น ถ้าถามว่านักวิทยาศาสตร์คิดค้นโน่นนี่แล้วจะได้อะไร ไม่มีใครตอบได้ แม้แต่ตอนที่ ไอน์สไตน์ คิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพขึ้นมา ก็ยังไม่มีใครรู้หรอกว่าเอาไปทำอะไรได้
สำหรับคำตอบส่วนตัวของผม วิทยาศาสตร์เรียนไปทำไม ผมมองว่ามันเป็นเหมือนภาระหน้าที่ของมนุษย์อย่างหนึ่ง อาจไม่ใช่ทุกคน แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องทำ เราก้าวหน้ามาได้ทุกวันนี้เพราะเราพยายามสังเกตธรรมชาติและพยายามจะเข้าใจมัน เราพยายามที่จะทำความเข้าใจสภาพจักรวาลที่เราอาศัยอยู่ตลอดเวลา ผมมองว่ามันเป็นจุดหมายปลายทางสุดท้ายของมนุษยชาติที่เราจะต้องเข้าใจทุกอย่างในจักรวาล
นักฟิสิกส์ชาวอเมริกันคนหนึ่ง ริชาร์ด ไฟน์แมน (Richard Phillips Feynman) เขาเปรียบเทียบวิทยาศาสตร์ว่า เหมือนเรากำลังสังเกตคนเล่นหมากรุกสองคน โดยที่เราไม่เข้าใจกติกาของมัน เราพยายามสังเกตว่ามันเกิดอะไรขึ้น ใครเดินหมากอย่างไร และพยายามจะเดาว่ากฎของเกมนี้คืออะไร นั่นคือสิ่งที่วิทยาศาสตร์กำลังทำ เรากำลังสังเกตการเดินหมากรุกของจักรวาลอยู่ และพยายามจะเข้าใจว่ากฎของมันคืออะไร เผื่อว่าสักวันหนึ่งเราอาจเข้าใจก็ได้ว่า ผู้เล่นสองคนนี้เขามีจุดประสงค์อยากทำอะไร หรือเกมนี้มันสร้างขึ้นมาทำไม สุดท้ายแล้ววิทยาศาสตร์เรียนไปทำไม ก็เพื่อที่จะเข้าใจในธรรมชาติของทุกสิ่งในจักรวาล บางคนอาจจะมองว่าไม่สำคัญ แต่ผมว่าสำคัญนะ

" หมายความว่า ปลายทางของมันก็เพื่อจะรู้ว่าชีวิตคืออะไร เราเกิดมาทำไม ทำนองนั้นหรือเปล่า "

อาจจะประมาณนั้นก็ได้ ถ้านักชีววิทยาอาจจะสนใจประเด็นนั้น แต่นักฟิสิกส์คงจะสนใจมากกว่านั้น ว่าจักรวาลคืออะไร จักรวาลทำงานยังไง เพราะเราก็เป็นแค่ส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของจักรวาลเท่านั้นเอง



" ถามว่าวิทยาศาสตร์เป็นความเชื่อไหม หลายๆ คนเขาจะบอกว่าไม่ใช่ แต่ผมว่ามันก็เป็นความเชื่อนะ คือถามว่ามันมีเหตุผลอะไรว่าหลักตรรกะต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้อง จริงๆ ก็ไม่มี แต่ผมอยากที่จะเชื่อแบบนี้ เพราะอย่างน้อยตรรกะก็เป็นสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ถ้าเราเลือกจะเชื่ออะไรตามหลักของตรรกะที่มันพิสูจน์ได้ชัดเจน โอกาสที่จะถูกก็มากกว่า"


เครดิตภาพ : [1] [2] [3] [4]

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม